6.04.2555

รามเกียรติ์แอนิเมชั่น ค้วารางวัลปยุต เงากระจ่าง และ รางวัลขวัญใจมหาชน

matichon.co.th/news วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:30:00 น

รางวัลหนังสั้น′ 15
"รามเกียรติ์" ใน "กลียุค" แห่ง "หมอก" ควัน "ภูเขาไฟพิโรธ" & ความ "เปลี่ยน" แปลง



ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 15 โดยมูลนิธิหนังไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญสำหรับงานเทศกาลประจำปีนี้ ก็คือ พิธีมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์สั้นที่ถูกส่งเข้าประกวดในสาขาต่างๆในรางวัลสาขาช้างเผือกพิเศษ (สำหรับเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี) หนังสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "เปลี่ยน" โดย บุญจิรา พึ่งมี นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งพูดถึงประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ




รางวัลช้างเผือก (สำหรับนักศึกษา) ผลงานที่ชนะเลิศ คือ "กลียุค" โดย เอกภณ เศรษฐสุข จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสียดเย้ยชนชั้นนำ (โดยเฉพาะนักการเมือง) ผ่านประเด็น "เบื้องหน้าอันงดงาม" กับ "เบื้องหลังอันฟอนเฟะ" ได้อย่างตลกขบขันและเจ็บแสบ


รางวัลปยุต เงากระจ่าง (สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่น) ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ มือทำสต็อปโมชั่นระดับเก๋าของวงการ อย่าง อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศสาขารัตน์ เปสตันยี ตั้งแต่ในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 1 ประจำปี 2540 เมื่อ 14 ปีก่อน ที่กลับมาพร้อมแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์ "รามเกียรติ์แอนิเมชั่น ตอนธรรมะแห่งราชา" ซึ่งนำภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์มาปรุงแต่งเป็นภาพเคลื่อนไหว


รางวัลดุ๊ก (สำหรับภาพยนตร์สารคดีไม่จำกัดความยาว) หนังที่ชนะเลิศ คือ "95110 เมืองในหมอก" โดย ทวีวิทย์ กิจธนสุนทร ที่เล่าเรื่องราวคนหลากหลายกลุ่มในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทั้งชาวอีสานที่อพยพไปตั้งรกรากในพื้นที่ใต้สุดของประเทศตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510, กลุ่มวัยรุ่นไทยพุทธที่เล่นยาเสพติด รวมทั้ง สามพี่น้องเยาวชนเชื้อสายมลายูมุสลิมที่ไม่มีแม่และไม่รักแม่


รางวัลรัตน์ เปสตันยี อินเตอร์เนชั่นแนล (สำหรับหนังสั้นจากต่างประเทศ) ผลงานชนะเลิศเป็นหนังเยอรมนี-โรมาเนียชื่อว่า "ไซเลนท์ ริเวอร์" โดย อันคา มิรูนา ลาซาเรสคู


และรางวัลรัตน์ เปสตันยี (สำหรับบุคคลทั่วไป) ผู้ชนะเลิศได้แก่ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ศิลปินลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น อาจารย์สอนวิชาด้านศิลปะภาพเคลื่อนไหว ที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้สามารถคว้าหนึ่งในรางวัลสูงสุดของเทศกาล จากหนังสั้นแนวทดลองอันทรงพลังและท้าทายต่อการครุ่นคิดตีความเรื่อง "ภูเขาไฟพิโรธ"


 

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากจะมีนักทำหนังสั้นหน้าใหม่ส่งผลงานเข้ามาประกวดและได้รับรางวัลไปครอบ ครองแล้ว ในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 15 ยังมีนักทำหนังรุ่นเก่าอีกหลายรายที่หวนกลับมาส่งหนังสั้นเข้าประกวดอีก ครั้งหนึ่ง และสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการคว้ารางวัลไปได้ ซึ่งนอกจากรายของอธิปัตย์และไทกิแล้ว ยังมีปราโมทย์ แสงศร ที่เคยได้รับรางวัลประกาศนียบัตรชมเชยสาขารัตน์ เปสตันยี เมื่อเทศกาลครั้งที่ 5 ประจำปี 2544 ก่อนที่จะได้รับรางวัลรองชนะเลิศในสาขาเดียวกัน ประจำปีนี้ จาก อีกหนึ่งหนังสั้นที่สร้างข้อถกเถียงให้แก่ผู้ชมอย่างมากมายเรื่อง "The Island of Utopias"
ผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 15 โดยละเอียด
รางวัลรัตน์ เปสตันยี
*ชนะเลิศ "ภูเขาไฟพิโรธ" โดย ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์
*รองชนะเลิศ "ชินดะ ไกจิน (ต่างด้าวเท่งทึง)" โดย ก้อง พาหุรักษ์, "เราจะข้ามเวลามาพบกัน" โดย เอกลักษณ์ มาลีทิพย์วรรณ และ "The Island of Utopias" โดย ปราโมทย์ แสงศร
*ประกาศนียบัตรชมเชย "Erotic Fragment No. 1, 2, 3" โดย อนุชา บุญยวรรธนะ, "คล้าย" โดย ตุลพบ แสนเจริญ และ "มิสสิส นวล ฮู แคน รีคอล เฮอร์ พาสต์ ไลฟ์" โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

รางวัลรัตน์ เปสตันยี (อินเตอร์เนชั่นแนล)
ชนะเลิศ "ไซเลนท์ ริเวอร์" โดย อันคา มิรูนา ลาซาเรสคู (เยอรมนี-โรมาเนีย)
ประกาศนียบัตรชมเชย "โอเพ่น ดอร์ส" โดย อาชิช ปานเดย์ (อินเดีย) และ "แมชชีน แมน" โดย อังฟองโซ่ โมราล และ โรเซอร์ คอเรลลา (สเปน)

รางวัลช้างเผือก
*ชนะเลิศ "กลียุค" โดย เอกภณ เศรษฐสุข คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*รองชนะเลิศ "ไตรภูมิคาถา" โดย ภัทธิ บัณฑุวนิช สาขาออกแบบมัลติมีเดีย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ "สุขขา 3" โดย กรนันท์ ชื่นพินชัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ)
*ประกาศนียบัตรชมเชย "นอกหน้าต่าง" โดย ภิชณัฐ สุขทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, "ณ.บ. (N.B.)" โดย ณัฐพันธุ์ บุญเลิศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ "Swimming Pool" โดย พวงสร้อย อักษรสว่าง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รางวัลช้างเผือกพิเศษ

*ชนะเลิศ "เปลี่ยน" โดย บุญจิรา พึ่งมี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง
*รองชนะเลิศ "House" โดย เศรษฐสิริ ชาญจรัสพงศ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ "Pedigree" โดย ราชพฤกษ์ ติยะจามร จบการศึกษาจากโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย
*ประกาศนีบัตรชมเชย "Lesbian Fantasy"  โดย ธีรัช หวังวิศาล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และ "แก้วหน้าม้า" โดย ณรงค์ชัย นาคศรีจันทร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดทรงธรรม

รางวัลดุ๊ก
*ชนะเลิศ "95110 เมืองในหมอก" โดย ทวีวิทย์ กิจธนสุนทร
*รองชนะเลิศ "บ้านเราอยู่ห้วยดินดำ" โดย พิสุทธิ์ ศรีหมอก และ "ประวัติศาสตร์ขนาดย่อของความทรงจำ" โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

รางวัลปยุต เงากระจ่าง
*ชนะเลิศ "รามเกียรติ์แอนิเมชั่น ตอนธรรมะแห่งราชา" โดย อธิปัตย์ กมลเพ็ชร
*รองชนะเลิศ "หยุด" โดย ธวัชพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์ และ "ปุปะ" โดย ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์
*ประกาศนียบัตรชมเชย "Be with you japan" โดย ชลวิทย์ ชูโต, "หลังฟ้าหม่น" โดย ภัทรมน เอื้อวาณิชชา, "หมากพร้าว" โดย สริดา เผ่าอรุณ และ "ความเป็นจริง บน จินตนาการ" โดย นลัท จิรวีรกูล


รางวัลวิจิตรมาตรา 
(สำหรับภาพยนตร์ที่คณะกรรมการจัดงานเห็นว่ามีความดีเด่นเป็นพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง)
"ทาง-ไหน" โดย ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต และ รษิกา ประสงค์ธรรม
"เพิ่งกลับจากดินแดนเวทมนตร์อันไกลแสนไกล" โดย ภาส พัฒนกำจร
"คล้าย" โดย ตุลพบ แสนเจริญ
และ "Swimming Pool" โดย พวงสร้อย อักษรสว่าง

รางวัลพิราบขาว 
(สำหรับภาพยนตร์สั้นไทยที่สะท้อนประเด็นสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมเป็นธรรมทางสังคม และกระตุ้นจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ)
"คนสามรุ่น ครุ่นคิด อะไรฤา" โดย ภาณุ แสง-ชูโต และ ขวัญแก้ว เกตุผล

รางวัลโกดัก ฟิล์มสคูล คอมเพททิชั่น 
(รางวัลด้านการถ่ายภาพ สำหรับภาพยนตร์ของนักศึกษาที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มโกดัก)
"นอกหน้าต่าง" โดย ภิชณัฐ สุขทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม
"ชลภัสสร คหกาญจน์ธรา" จากเรื่อง "เพิ่งกลับจากดินแดนเวทมนตร์อันไกลแสนไกล"

รางวัลขวัญใจมหาชน 
"รามเกียรติ์แอนิเมชั่น ตอนธรรมะแห่งราชา" โดย อธิปัตย์ กมลเพ็ชร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น